วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

เลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบารี

 เลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบารี

           
               วันเสาร์ที่ 21 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.
           
              
                 การเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบารีลูกผสมในบ่อครัวเรือน
                  เป็นแนวทางในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานที่งานศึกษาและพัฒนาด้านประมง
                  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร
                  ได้ทดสอบจนพบว่า เป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง
               
                  จากข้อมูลที่ศึกษาได้พบว่า ระยะเวลา 8 เดือน สามารถเลี้ยงเป็ดได้ถึง 2 รุ่น และเลี้ยงปลานิลแดงได้ 1 รุ่น
                  ด้วยการใช้พื้นที่การเลี้ยงในที่แห่งเดียวกัน คือให้เป็ดอาศัยอยู่บริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา
                  โดยต้นทุนหลักมาจากค่าอาหารเป็ดร้อยละ 50 ส่วนผลกำไรที่ได้จะมาจากการขายเป็ดและปลา
                  ซึ่งเป็นรายได้ที่มากกว่าการเลี้ยงแบบอื่น ๆ
                  ทั้งยังลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากการเลี้ยงได้เป็นอย่างดีเพราะมีสินค้าถึง 2 ชนิด
               
                  ในการศึกษาครั้งนี้ได้พิจารณาต้นทุนในการดำเนินการไว้เป็นการเบื้องต้น
                  โดยค่าพันธ์ุปลานิลแดงจำนวน 150 ตัว ตัวละ 0.5 บาท รวม 75 บาท ค่าพันธุ์เป็ด 50 ตัว ตัวละ 15 บาท รวม 750 บาท
                  ค่าอาหารเป็ด 711 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2.70 บาท รวม 1,919.70 บาท รวมต้นทุน 2,744.70 บาท
                  ซึ่งเป็นต้นทุนในการดำเนินการรุ่นแรกนับจากเริ่มต้นจนถึงการนำออกจำหน่าย
               
                  เมื่อนำจำหน่ายพบว่ารายได้เบื้องต้น ปลานิลแดงจำนวน 28 กิโลกรัม
                  กิโลกรัมละ 30 บาท รวม 840 บาท เป็ด 47 ตัว น้ำหนักรวม 122 กิโลกรัม
                  กิโลกรัมละ 40 บาท รวม 4,880 บาท รวมรายได้ 5,720 บาท กำไร 2,975.30 บาท
               
                  สำหรับเป็ดบาบารีนั้นตลาดทั่วไปส่วนใหญ่จะนำไปทำเป็นเป็ดพะโล้ เป็ดย่าง หรือเป็ดล่อน
                  เป็ดย่างจิ้มแจ่ว จำหน่ายทั่วไปแม้ร้านอาหารริมทางก็มีให้เห็นมากขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มว่าจะ
                  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นตลาดในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต
                  ตลอดจนตลาดส่งออกแบบเป็ดชำแหละเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็มีมากขึ้นเช่นกัน
               
                  ในการเลี้ยงควรมี โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดอยู่บริเวณเดียวกับบ่อปลานิลแดง
                  สภาพโรงเรือนควรแห้งสะอาด ไม่มีน้ำขัง ป้องกันแดดและฝนได้ดี
                  รางอาหารควรวางห่างจากรางน้ำ มีผัก หญ้าสด หรือผักตบชวา
                  ให้เป็ดกิน อาหารควรมีโปรตีนประมาณ 16% เป็ดที่จะเริ่มไข่เมื่ออายุ 28 สัปดาห์
                  วันหนึ่งควรให้อาหาร 2 ครั้ง เช้า-เย็น หนึ่งปีจะไข่ประมาณ 4-5 ชุด ชุดละ 15-20 ฟอง
                  สามารถไข่ได้ 2 ปี แม่เป็ดชอบไข่ในที่มืดสงบ
                  จึงควรมีรังไข่บุด้วยฟางหรือวัสดุแห้ง ๆ จัดไว้ในมุมมืดของโรงเรือนสำหรับแม่เป็ด
               
                  ส่วนปลานิลแดง เป็นปลาที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาจากปลานิลธรรมดา ๆ
                  ของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น
                  จนได้ปลาที่มีลักษณะมีสีขาวอมแดง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
                  ได้พระราชทานนามว่า “ปลานิลแดง” เมื่อปี พ.ศ. 2522
               
                  ปลานิลแดงมีรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร
                  ปลานิลแดงกินอาหารได้หลากหลาย เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ผักบุ้ง
                  หรือจะเรียกได้ว่าว่ายไปเจออะไรก็กินได้หมด มีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝู
                  ง ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์ มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
               
                  ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือนต่อครั้ง
                  แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้ง
                  ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วปลาตัวเมียจะเก็บไว้ฟัก
                  โดยวิธีอมไข่เข้าไว้ในปาก แล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ประมาณ 4-5 วัน
                  ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัว ประมาณ 3-4 วัน แม่ปลาก็จะคายลูกปลาให้ว่ายออกมาจากปาก
                  ลูกปลานิลจะรู้จักวิธีหาอาหารกินได้เองเมื่อมีอายุได้ 3 สัปดาห์ และมักจะว่ายกินอาหารรวมกันเป็นฝูง
               
                  ฉะนั้นหากเลี้ยงปลานิลแดงร่วมกับเป็ดบาบารีพันธ์ุผสมในพื้นที่เดียวกัน
                  ก็ สามารถลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วนำขายหรือบริโภคได้อย่างต่อเนื่องหากจัดระบบ ให้ดี
                  คือ ให้ทั้งเป็ดและปลาขยายพันธ์ุตามธรรมชาติในพื้นที่เลี้ยงซึ่งวิธีนี้จะ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง.

 ที่มา : เดลินิวส์ 21 เมษายน 2555
               URL : http://www.dailynews.co.th/agriculture/23219

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น